กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก

การผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้กันมากในปัจจุบันอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถุง กล่อง ท่อ แผ่นฟิล์ม ส่วนมากมีแหล่งกำเนิดจากปิโตเรียม รวมถึงน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสารคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติใต้ผิวดินและมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เพราะเป็นทั้งแหล่งพลังงานและแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตวัสดุสังเคราะห์ต่าง ๆ 

ปิโตรเลียมจะอยู่ในสถานะเป็นก๊าซ ของเหลว หรือของแข็ง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความดัน และจำนวนหรือการจัดเรียงตัวของคาร์บอนในโมเลกุล โดยทั่วไปสารไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอนไม่เกิน 4 อะตอม จะมีสถานะเป็นก๊าซ ถ้ามีคาร์บอนระหว่าง 5 -19 อะตอม จะมีสถานะเป็นของเหลว และถ้ามีคาร์บอนตั้งแต่ 20 อะตอมขึ้นไป จะมีสถานะเป็นของแข็ง

                การกลั่นลำดับส่วนน้ำมันดิบ ทำให้เราสามารถแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนออกเป็นส่วนต่าง ๆ  ซึ่งพบว่ามีปริมาณสารประกอบไฮโดรคาร์บอนสายยาวซึ่งเกินกว่าความต้องการใช้งานอยู่ปริมาณมาก แต่กลับมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนสายสั้นที่มีการนำไปใช้ประโยชน์มากกว่าอยู่ปริมาณน้อย จึงต้องนำสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกินความต้องการมาผ่านกระบวนการแยกสลายเพื่อตัดความยาวให้สั้นลงได้เป็นสารประกอบขนาดเล็ก เช่น ก๊าซเอทธิลีนและก๊าซโพรพิลีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกบางชนิด โดยก๊าซเหล่านี้จะถูกส่งไปยังโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกต่อไป

กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก เริ่มต้นจากการนำสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีขนาดเล็กซึ่งได้จากการกลั่นลำดับส่วนน้ำมันดิบมาทำปฏิกิริยากันจนได้เป็นสายโซ่ยาว เรียกว่าโพลิเมอร์ ซึ่งโพลิเมอร์แต่ละชนิดสังเคราะห์โดยใช้วัตถุดิบเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป ทำให้โพลิเมอร์มีสมบัติที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยโพลิเมอรที่สังเคราะห์ได้นี้จะถูกนำไปขึ้นรูปเป็นเม็ดพลาสติกและเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทธิลีน (PE) โดยเริ่มต้นจากก๊าซเอทธิลีนซึ่งถูกเก็บในถังปฏิกิริยา เมื่อเติมตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสมจะเกิดปฏิกิริยาขึ้น โมเลกุลขนาดเล็ก จำนวนมากจะเข้ามาต่อกันเป็นโมเลกุลที่ยาวมาก ๆ ได้โพลิเอทธิลีนที่มีสมบัติเหมาะสมสำหรับ นำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ขวด ถุง และของเล่น

ปฏิกิริยาการสังเคราะห์โพลิเมอร์

            ปฏิกิริยาสังเคราะห์โพลิเมอร์ หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า ปฏิกิริยาโพลิเมอร์ไรเซซัน (polymerization) คือ ปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้โมโนเมอร์โมเลกุลเล็ก ๆ เกิดปฏิกิริยาต่อกันเป็นสายโซ่ยาว ๆ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) การสังเคราะห์โพลิเมอร์แบบลูกโซ่หรือรวมตัว

            กระบวนการสังเคราะห์แบบรวมตัว เป็นการนำเอาโมโนเมอร์ซึ่งเป็นสารที่มีโมเลกุลขนาดเล็กและไม่อิ่มตัว คือ มีพันธะคู่ หรือพันธะสามอยู่ในโมเลกุลมาทำปฏิกิริยาซึ่งกันและกันจนได้เป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ ซึ่งการทำปฏิกิริยาเริ่มต้นจากโมเลกุลที่มีพันธะคู่หรือพันธะสามจะถูกความร้อนและตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) ที่เหมาะสม ทำให้พระ 1 พันธะแตกออกซึ่งว่องไวในการทำปฏิกิริยายึดติดกับพันธะที่แตกออกของโมเลกุลที่อยู่ข้างเคียงกัน เกิดการต่อกันทีละโมเลกุลจนได้โมเลกุลใหม่ที่มีลักษณะเป็นสายโซ่ที่ยาวขึ้น การสังเคราะห์โพลิเมอร์ลักษณะนี้ไม่มีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ หลุดออกมา ทำให้จำนวนอะตอมของธาตุในหน่วยซ้ำของโพลิเมอร์เท่ากับจำนวนอะตอมในโมเลกุลของโพลิเมอร์

ตัวอย่างพลาสติกที่เกิดจากการสังเคราะห์โพลิเมอร์ลักษณะนี้ ได้แก่ โพลิไวนิลคลอไรด์ โพลิโพรพิลีน และโพลิเอทธิลีน เป็นต้น

2) การสังเคราะห์โพลิเมอร์แบบขั้นหรือควบแน่น

            กระบวนการสังเคราะห์แบบควบแน่นเกิดจากโมโนเมอร์ 2 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดเป็นสารที่มีโมเลกุลขนาดเล็กและมีหมู่ฟังก์ชันเหมือนกันอย่างน้อย 2 หมู่ที่ปลายสุดของโมเลกุล ที่สามารถทำปฏิกิริยากันระหว่างหมู่ฟังก์ชันอย่างต่อเนื่องได้ผลิตภัณฑ์เป็นโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ การสังเคราะห์โพลิเมอร์ลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเกิดสารที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก เช่น H2O, HCI และ CH3OH เป็นผลพลอยได้ (by product) เป็นสาเหตุให้จำนวนอะตอมของธาตุในหน่วยช้ำ ของโพลิเมอร์มักน้อยกว่าจำนวนอะตอมในโมเลกุลของโมโนเมอร์

                ตัวอย่างพลาสติกที่เกิดจากการสังเคราะห์โพลิเมอร์ด้วยลักษณะการควบแน่น ได้แก่ ไนลอน และโพลิเมอร์ เอสเทอร์ เป็นต้น

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *